ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินฉลุย อีอีซีไฟเขียวแก้สัญญาพร้อมเริ่มก่อสร้าง เม.ย.นี้
“บอร์ดอีอีซีไฟเขียวแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข คาดภายในเดือน เม.ย. 2568”
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และการหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่าง สกพอ. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ โดยยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการนี้
ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือน เม.ย. 2568
นอกจากนี้ กพอ. ได้เห็นชอบเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ ให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยขยายเจตนารมณ์ของโครงการที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จากเดิม “ระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” เพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการใช้งานต่อเนื่อง” ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีการผลิตสะอาดมลพิษต่ำ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ เป็นต้น
ที่มาข่าว : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2835291